การสร้างเรื่องราวต่างๆ ให้คนเชื่อผ่านคำพูดนั้น หลายคนอาจจะคิดว่ามันง่ายนิดเดียว แค่เล่าให้เหมือนกับตัวเองอยู่ในเหตุการณ์ เล่าโดยใส่อารมณ์ร่วม และระวังไม่ให้เรื่องราวที่แต่งขึ้นมานั้นขัดแย้งกันเอง แต่รู้ไหมว่า ถึงแม้ปากของเราจะบอกเล่าเรื่องราวหลอกลวงได้แนบเนียนเพียงใด แต่อวัยวะส่วนอื่นของร่างกายกลับประท้วงว่านั่นไม่ใช่ความจริงโดยสิ้นเชิง สิ่งนี้เรียกว่า “ภาษากาย” ซึ่งมนุษย์ควบคุมมันไม่ได้ เพราะสมองส่วนลิมบิก (รับผิดชอบต่อการอยู่รอดของมนุษย์ นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์กลางอารมณ์และความรู้สึก ซึ่งเชื่อมต่อไปยังส่วนอื่นๆ ของสมอง เพื่อควบคุมพฤติกรรมให้สอดคล้องกับอารมณ์) สั่งให้เราแสดงอาการเหล่านั้นออกมา ตั้งแต่หัวไปจนถึงปลายเท้า เราสามารถอ่านภาษากายเหล่านี้ได้ทั้งหมด เอฟบีไอก็ใช้หลักการอ่านภาษากายในการสอบสวนผู้ต้องสงสัยด้วยเช่นกัน และวันนี้เราจะมาแชร์ให้ดูว่าคนปากไม่ตรงกับใจนั้น “ภาษากาย” ของพวกเขาจะแสดงออกมาแบบไหนบ้าง
1. การหรี่ตาหรือเอามือปิดตา
มันจะบ่งบอกอารมณ์ไปในทางลบ ส่วนใหญ่เวลาที่เราหรี่ตา ก็เพื่อป้องกันแสงที่สว่างมากๆ แต่จริงๆ แล้วมันยังแสดงให้เห็นถึงการปิดกั้นสิ่งที่เราไม่ชอบ ไม่เข้าหู หรืออึดอัดใจอีกด้วย นอกจากนี้การเอามือหรือเอานิ้วปิดตา ก็เป็นวิธีที่ปิดกั้นสิ่งที่ไม่อยากรับรู้หรือได้ยินเช่นเดียวกัน สมมุติว่าคุณกำลังคุยกับลูกค้าเรื่องสำคัญ หรือกำลังนำเสนองาน หากมีจังหวะที่เขาหรี่ตาลงหรือเอามือมาปิดตา แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ก็สงสัยไว้เลยว่าเขาน่าจะมีปัญหาอะไรบางอย่างกับสิ่งที่คุณพูดอยู่ หรือจะลองสังเกตตัวเองดูก็ได้ว่าเวลามีใครพูดอะไรไม่เข้าหูคุณ หรือเห็นอะไรที่ทำให้รู้สึกผิดหวัง ตาคุณหรี่ลงหรือเอามือปิดตาหรือไม่
2. การกระพริบตา
เราจะกระพริบตาถี่ในยามที่ตื่นตัว ตกอยู่ในสถานการณ์ลำบาก ประหม่า หรือรู้สึกกังวล การกระพริบตาถี่ๆ จึงสะท้อนความยุ่งยากภายในใจ บอกว่าคุณกำลังอยู่ภายใต้ความเครียด ไม่ว่าสิ่งที่คุณพูดจะเป็นเรื่องโกหกหรือไม่ก็ตาม (การกระพริบตาถี่ไม่ได้บ่งบอกว่าโกหก เพราะความเครียดก็ทำให้คนกระพริบตาถี่เช่นเดียวกัน) ทั้งนี้อัตราการกระพริบตาของคนเราแตกต่างกัน คุณอาจจะมองหาความเปลี่ยนแปลงอัตราการกระพริบตาดู เช่น จู่ๆ ก็หยุดหรือกระพริบตาถี่อย่างกะทันหัน จะได้รู้ว่าอาการไหนที่แสดงถึงความไม่ปกตินั่นเอง
3. คิ้ว
คิ้วที่เลิกขึ้นสูงบ่งบอกถึงความมั่นใจสูงและความรู้สึกในแง่บวก ส่วนคิ้วที่ย่นลงต่ำจะบ่งบอกถึงสิ่งที่ตรงกันข้าม เราจะย่นคิ้วเมื่อต้องเผชิญกับอันตรายหรือภัยคุกคาม รู้สึกไม่พอใจ โกรธ หรือรำคาญ การย่นคิ้วมากเกินไปในภาษาสากลยังหมายถึงความอ่อนแอและไม่มั่นคงอีกด้วย
4. การเม้มปาก
เมื่อเราเม้มปากเข้าหากัน ดูเหมือนว่าสมองส่วนลิมบิกกำลังบอกให้เราปิดปากให้สนิท อย่ายอมให้อะไรเข้ามาในร่างกาย การเม้มปากจึงเป็นอาการที่บ่งบอกว่าคนนั้นกำลังเจออะไรที่ผิดปกติ หรือกำลังมีปัญหาอยู่ แต่ถึงแม้ว่าการเม้มปากจะเป็นสิ่งที่แสดงถึงความรู้สึกเชิงลบ ก็ไม่ได้หมายความว่าคนที่เม้มปากคือคนที่กำลังโกหก เพียงแต่เขากำลังเครียดเท่านั้น
5. เท้าที่แข็งทื่อ
ถ้าคู่สนทนาของเราแกว่งเท้าหรือขาตลอด แต่อยู่ดีๆ เขาก็หยุดทำอย่างกะทันหัน นั่นเป็นสัญญาณที่บอกว่าเขากำลังเผชิญกับความเครียด หรือรู้สึกถูกคุกคามในทางใดทางหนึ่ง เพราะระบบลิมบิกของเขาสั่งการให้เอาตัวรอดด้วยการตกอยู่ในภาวะแข็งทื่อ (การเอาตัวรอดมีอยู่ 3 แบบ คือนิ่ง หนี และสู้) ดังนั้นลองสังเกตให้ดีว่าคุณได้พูดหรือถามอะไรที่เขาไม่อยากให้คุณรู้หรือไม่
6. การยักไหล่
การยักไหล่ไม่ว่าจะมากหรือน้อยล้วนมีความหมายทั้งนั้น คำตอบที่ซื่อตรงจะส่งผลให้ไหล่ทั้งสองข้างยกขึ้นเท่าๆ กันอย่างรวดเร็ว ส่วนการยกไหล่แบบครึ่งๆ กลางๆ หรือยกไหล่ข้างเดียว นั่นหมายความว่าสมองส่วนลิกบิกบอกว่าเขาไม่ต้องการผูกมัดกับสิ่งที่ตัวเองพูด บางทีอาจจะแค่ตอบเลี่ยงๆ หรือกำลังโกหกอยู่ก็ได้
7. ใช้นิ้วลูบฝ่ามือและเอามือมาประสานกันเพื่อถูกซอกนิ้ว
คนที่ค่อนข้างขาดความมั่นใจ หรือมีความเครียด (แต่ไม่มาก) มักจะใช้นิ้วมือถูฝ่ามืออีกข้างอย่างแผ่วเบาเท่านั้น แต่หากสถานการณ์ตึงเครียดมากขึ้น หรือความมั่นใจลดลงไปอีก จะเปลี่ยนจากเอานิ้วถูฝ่ามือเป็นเอามือมาประสานกันเพื่อถูซอกนิ้วแทน นิ้วที่เกี่ยวประสานกันนี้เป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงความกังวลใจได้อย่างแม่นยำ เพราะมันเป็นการกระทำเพื่อลดความกังวลนั่นเอง
8. การสัมผัสคอ
การที่เราเอามือไปสัมผัสที่คอตัวเอง (ส่วนไหนก็ได้) ระหว่างที่พูดไปด้วยนั้น จริงๆ แล้วมันบ่งบอกถึงความมั่นใจที่น้อยกว่าปกติ หรือไม่ก็กำลังพยายามคลายความเครียดลง การปกปิดบริเวณลำคอ และรอยบุ๋มระหว่างกระดูกไหปลาร้าขณะที่กำลังรู้สึกเครียดนั้น เป็นภาษาสากลที่บอกชัดเจนว่าสมองเรากำลังประมวลผลอย่างจริงจังถึงสิ่งที่เป็นอันตราย หรือทำให้ไม่สบายใจ อาการนี้ไม่ได้บ่งบอกถึงการโกหกซะทีเดียว ถึงแม้จะพบเห็นได้ในคนโกหกที่กำลังว้าวุ่นใจก็ตาม
9. การถูฝ่ามือกับหน้าตัก
นี่เป็นพฤติกรรมการสงบสติอารมณ์ที่ไม่ค่อยมีใครสังเกตเห็น เพราะมันมักจะเกิดขึ้นใต้โต๊ะ ทำเพื่อลดความเครียด หรือบางทีก็อาจจะเช็ดเหงื่อบนฝ่ามือที่เกิดจากความเครียดก็ได้ โดยจะลูบจากโคนขาไปจนถึงหัวเข่า คุณจะรู้ได้ว่าเขากำลังแสดงพฤติกรรมนี้โดยการสังเกตว่าไหล่ทั้งสองข้างของเขาจะเคลื่อนไหวไปมาเป็นจังหวะเดียวกับมือที่กำลังถูขาอยู่นั่นเอง
10. การเอนตัว
ลำตัวก็เหมือนส่วนอื่นๆ ของร่างกาย ที่จะมีปฏิกริยาตอบสนองเวลาที่ต้องเผชิญกับสิ่งที่เป็นอันตรายหรือความเครียด เช่น เวลามีใครโยนอะไรมาใส่ เราจะเอนตัวหนีทันที ในทำนองเดียวกัน เมื่อเราต้องอยู่ใกล้กับคนที่เราไม่ชอบ หรือแม้กระทั่งสิ่งที่เราไม่สนใจหรือไม่เห็นด้วย ลำตัวของเราจะเอนออกจากคนนั้นหรือสิ่งนั้นแบบอัตโนมัติ เพราะนั่นเป็นสิ่งที่สมองสั่งให้ทำ ในขณะเดียวกัน ถ้าหากเป็นสิ่งที่เราชอบหรือคนที่เราชอบ เราก็จะเอนตัวเข้าไปหา และเปิดเผยส่วนลำตัวให้อย่างเต็มที่ (ลำตัวเป็นส่วนเปราะบางของร่างกาย) เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นว่า เรารู้สึกอุ่นใจ และไว้ใจที่ขะอยู่ใกล้คนๆ นี้
ทั้งหมดนี้ที่กล่าวมาคือภาษากายที่มักจะถูกแสดงออกมาแทนอารมณ์จริงๆ ที่รู้สึกอยู่ข้างใน อย่างไรก็ตามเราควรจะต้องศึกษาด้วยว่าบุคลิกทั่วไปของคนๆ นั้นเป็นอย่างไร เพราะบางครั้งคนเหล่านั้นเขาก็แสดงท่าทางต่างๆ อย่างที่กล่าวมาเป็นปกติ การศึกษาบุคลิกของพวกเขาก่อน จะทำให้ไม่เกิดความสับสนในเบาะแสนั่นเอง
เขียน: Maytiz
เนื้อหาอ้างอิงจากหนังสือ ร่างกายไม่เคยโกหก คู่มืออ่านคนฉบับเอฟบีไอ เขียนโดย Joe Navarro