ใครคือคนที่เสี่ยงต่อโรคหยุดหายใจขณะหลับ
Share this

คนทั่วไปมักจะคิดว่าการนอนกรนไม่ใช่เรื่องใหญ่ (ยกเว้นแต่จะกรนเสียงดังจนคนข้างๆ ทนไม่ได้) ใครๆ ก็นอนกรนกันทั้งนั้น แต่หลังจากที่คุณได้อ่านบทความนี้แล้ว ความคิดที่ว่าการนอนกรนเป็นเรื่องเล็ก จะเปลี่ยนไปทันที เพราะการนอนกรนคือสัญญาณเริ่มต้นของ “การหยุดหายใจขณะหลับ”




Obstructive Sleep Apnea (OSA) หรือโรคหยุดหายใจขณะหลับ คือภาวะที่มีการหยุดหายใจเกิดขึ้นเป็นพักๆ ในช่วงเวลาที่เรากำลังนอนหลับอยู่ เกิดจากทางเดินหายใจถูกอุดกั้น เนื่องจากกล้ามเนื้อทางเดินหายใจส่วนบนหย่อนตัวตีบแคบลง ร่วมกับไขมันที่สะสมรอบๆ ทางเดินหายใจ โดยในแต่ละครั้งอาจหยุดหายใจตั้งแต่ 10 วินาที จนไปถึง 2 นาทีเลยก็ได้




ทีนี้เรามาดูกันดีกว่า ว่าคนที่หยุดหายใจขณะหลับจะมีอาการอะไรบ้าง


1. กรนดัง/ หายใจสะดุด/ หยุดหายใจ

อาจจะต้องคอยสังเกตตัวเองว่าหายใจสำลักหรือไม่ หรือทางที่ดีก็ให้คนอื่นช่วยสังเกตดู


2. ตื่นมาปากแห้ง คอแห้ง หรือเจ็บคอมาก

เป็นผลเนื่องมาจากการกรนดังและหายใจลำบากมาทั้งคืน


3. นอนไม่หลับ/ ตื่นขึ้นมาบ่อยๆ กลางดึก

เพราะว่าสมองต้องปลุกเราให้ตื่นขึ้นมาหายใจ เราอาจจะรู้สึกตัวว่าตื่นมากลางดึกอยู่แค่ 2-3 ครั้ง แต่จริงๆ อาจมากถึงหลายร้อยครั้งต่อคืนก็ได้ แต่ด้วยความที่เป็นช่วงเวลาสั้นๆ ครั้งละไม่กี่วินาที จึงทำให้เราไม่รู้ตัว


4. อ่อนเพลีย

สาเหตุอาจเป็นไปได้ตั้งแต่การพักผ่อนน้อย ออกกำลังกายหนักเกินไป เป็นโรคซึมเศร้า โรคเครียด หรือโรคเบาหวาน ซึ่งเรามักจะมองข้าม OSA ไป ซึ่ง OSA จะทำให้สมองของเราต้องตื่นอยู่บ่อยๆ เพราะอากาศไม่เพียงพอ ดังนั้นจึงทำให้เรารู้สึกเหมือนไม่ได้นอน ถึงแม้ว่าจะนอนเยอะแค่ไหนก็ตาม


5. ตื่นเช้าแล้วไม่สดชื่น

เพราะสมองต้องตื่นบ่อยๆ ทำให้การนอนไม่มีคุณภาพ


6. ปวดหัวหลังตื่นนอน

สมองของคนที่เป็น OSA จะไม่ค่อยได้พักผ่อน และได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ จึงทำให้ปวดหัวตอนตื่น


7. สะดุ้งตื่นเพราะใจสั่น

ช่วงที่หายใจเป็นครั้งแรกหลังจากการหยุดหายใจ หัวใจจะเต้นแรงและเร็ว ทำให้บางครั้งเราจะรู้สึกตัวตื่นขึ้นมา


8. เหงื่อออกเยอะตลอดทั้งคืน

เพราะต้องออกแรงในการหายใจ


หลังจากที่ได้รู้อาการที่เกิดร่วมกับภาวะหยุดหายใจขณะหลับกันไปแล้ว เรามาดูกันต่อว่าใครบ้างที่เป็นกลุ่มเสี่ยง


1. ผู้ชาย

ผู้ชายเสี่ยงต่อการเป็น OSA มากกว่าผู้หญิง 3 เท่า เพราะผู้หญิงมีฮอร์โมนที่ช่วยป้องกันไม่ให้กล้ามเนื้อทางเดินหายใจหย่อนตัวมากนั่นเอง


2. หญิงวัยทอง

ถ้าเป็นผู้หญิงวัยทองก็จะมีโอกาสเสี่ยงมากขึ้น ถ้าเทียบกับผู้หญิงวัยที่ยังไม่หมดประจำเดือน เพราะฮอร์โมน (ที่ป้องกันไม่ให้กล้ามเนื้อทางเดินหายใจหย่อนตัว) ถูกผลิตน้อยลง


3. อ้วน

น้ำหนักที่เพิ่มขึ้น 10% จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรค OSA ถึง 6 เท่า เนื่องจากไขมันที่มากเกินไป อาจไปอุดตันทางเดินหายใจ หรือทำให้ทางเดินหายใจแคบลง


4. คอหนาสั้น

ยิ่งขนาดรอบคอเยอะ แปลว่ามีไขมันสะสมเยอะ ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเป็น OSA ผู้หญิงไม่ควรมีรอบคอเกิน 16 นิ้ว ส่วนผู้ชายไม่ควรเกิน 17 นิ้ว


5. คางสั้น

ไม่ใช่แค่คนอ้วนเท่านั้นที่จะเป็น OSA คนผอมบางคนก็เป็นได้เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับลักษณะใบหน้า เช่น คางสั้น ส่งผลให้ลิ้นถูกดันไปด้านหลัง ทำให้ช่องทางเดินหายใจแคบลง


6. ต่อมทอนซิลใหญ่

เป็นสาเหตุที่ทำให้ทางเดินหายใจแคบลงเช่นกัน


7. มีคนในครอบครัวเป็น OSA

คนที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็น OSA จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 3 เท่า ซึ่งเป็นผลมาจากยีน โครงหน้าที่คล้ายกัน บวกกับสิ่งแวดล้อม


8. สูบบุหรี่

คนสูบบูหรี่มีโอกาสเป็น OSA มากกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 3 เท่า สันนิษฐานว่าเกิดจากนิโคตินในบุหรี่ ทำให้โทนของกล้ามเนื้อหายใจเพิ่มขึ้นเวลาตื่น แต่พอนอนหลับไปจะเกิดผลตรงกันข้าม ทำให้เกิดการหยุดหายใจมากขึ้น นอกจากนี้บุหรี่ยังทำให้เกิดการอักเสบของทางเดินหายใจอีกด้วย


9. ดื่มเหล้า

การวิจัยพบว่าการดื่มเหล้า เบียร์ หรือแม้กระทั่งไวน์ จะทำให้มีจำนวนครั้งของการหยุดหายใจมากขึ้น และช่วงเวลาที่หยุดหายใจแต่ละครั้งก็นานขึ้นด้วย



หากคุณพบว่าตัวเองมีอาการตามที่กล่าวมา หรือเป็นคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อที่จะได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ป้องกันการเสียชีวิตหรือโรคร้ายแรงอื่นๆ ที่จะตามมา หยุดพฤติกรรมที่จะเพิ่มความเสี่ยง และหันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น


เขียน Maytiz

อ้างอิงข้อมูลจากหนังสือ พลิกชีวิต พิชิตนอนกรน เขียนโดย พญ.ดารกุล พรศรีนิยม

Share this