การนวดกดจุดเป็นศาสตร์การแพทย์แผนจีน เน้นการดูแลสุขภาพจากภายในโดยการกระตุ้นจากผิวหนังด้านนอกเพื่อปรับสมดุล อิน-หยาง ในร่างกาย ทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น ลดอาการปวดเมื่อย เพิ่มภูมิคุ้มกันร่างกาย สำหรับคนวัยทำงานอย่างเราที่ต้องดูแลสุขภาพตัวเองมากขึ้นจากการทำงานที่เหนื่อยล้าในทุกๆ วันและไม่ค่อยมีเวลาไปเข้าร้านนวด บทความนี้จะเป็นตัวช่วยให้คุณรู้วิธีการผ่อนคลายและดูแลร่างกายของตัวเองง่ายๆ ด้วยการ “นวดกดจุด 12 จุด” ที่สามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลา
จุดที่ 1 จี๋เฉวียน หรือ แอ่งใต้รักแร้
จุดนี้อยู่บริเวณแอ่งในร่องรักแร้ เป็นตำแหน่งผ่านของเส้นเลือด เส้นประสาทจากคอและแขน กล่าวได้ว่าเป็นบริเวณที่รวมเส้นเลือดแดงใต้รักแร้ เส้นเลือดดำ แขนงเส้นประสาทจากคอและต่อมน้ำเหลืองไว้ด้วยกัน
วิธีหาจุดและนวด: งอศอก ฝ่ามือจับที่ท้ายทอย มืออีกข้างคลำหาตำแหน่งที่มีการเต้นของเส้นเลือดที่รักแร้ หลังจากนั้นยกแขนขึ้น ฝ่ามือไปด้านบน และใช้ฝ่ามืออีกข้างตบบริเวณนั้น ทำสลับกันครั้งละ 30-50 ครั้ง ข้างละ 5 รอบ
สรรพคุณ: ขยายช่องอกให้โล่ง สงบอารมณ์ ป้องกันโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคหัวใจและปอด
จุดที่ 2 ชวี่ เจ๋อ หรือ บริเวณข้อพับศอก
วิธีนวด: อยู่ในท่านั่งหรือท่านอนหงาย แขนข้างหนึ่งเหยียดตรงหงายขึ้น ใช้ฝ่ามืออีกข้างทำมืออูมๆ แล้วตีลงไปบนข้อพับ 100-200 ครั้ง (หรือต่อเนื่อง 5-10 นาที) จนมีสีแดงระเรื่อ หรือจะให้คนอื่นช่วยตีก็ได้ เพราะสามารถทำได้พร้อมกันทั้งสองข้าง ทำ 2 สัปดาห์/ครั้ง
สรรพคุณ: บรรเทาอาการเจ็บคอ เสมหะเหลือง หายใจแรงหอบ ไอหรือไอเป็นเลือด เพิ่มการไหลเวียนเลือดลม สลายพิษ
จุดที่ 3 เหว่ยจง หรือ ข้อพับเข่า
เป็นจุดที่เต็มไปด้วยไขมัน มีเส้นเลือดเส้นประสาทที่สำคัญ จุดนี้มีจุดฝังเข็มที่สำคัญเรียกว่าจุด Wei Zhong เป็นจุดบนเส้นลมชี่กระเพาะปัสสาวะ เส้นลมชี่กระเพาะปัสสาวะเป็นเส้นลมชี่ที่สำคัญมากในการขับพิษและความชื้น
วิธีนวด: อยู่ในท่านั่งหรือท่านอนคว่ำ โดยตัวเองหรือให้คนอื่นใช้นิ้วมือคลึงบริเวณกึ่งกลางข้อพับเข่าทั้งสองข้าง ทำ 100 - 200 ครั้ง (หรือต่อเนื่อง 5-10 นาที)
สรรพคุณ: สลายพิษ ทำให้เอ็นคลายตัว เส้นลมชี่โล่ง ลดอาการปวดตะคริว หรืออาการเหนื่อยล้า
จุดที่ 4 เซิ่นซู, กวนหยวน, ซื่อเหลียว หรือ รอยบุ๋มบริเวณกระเบ็นเหน็บ
รอยบุ๋มบริเวณกระเบ็นเหน็บที่เกิดจากโครงสร้างของเอวและก้นกบ เป็นจุดที่มีความอดทนสูงที่สุดในร่างกาย และเป็นอีกจุดที่โดนปัจจัยภายนอกทำลายได้ง่าย
วิธีนวด: นั่งแล้วโค้งตัวไปด้านหน้า ใช้ฝ่ามือตบที่บริเวณเอวถึงก้นกบ ทิศทางได้ทั้งแนวตั้งและแนวนอน ทำซ้ำ 3-5 รอบ เน้นใช้แรงมากที่บริเวณด้านขอบของกระดูกก้นกบ ใช้แรงเริ่มจากน้อยไปมากแต่มีจังหวะที่สม่ำเสมอ
สรรพคุณ: ปรับสมดุลและเพิ่มการไหวเวียนของเลือดลม ผ่อนคลายกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น ฟื้นฟูพละกำลัง
ข้อควรระวัง: แรงต้องเริ่มจากน้อยไปมาก ไม่ควรทำมากเกินไป การใช้ฝ่ามือตบต้องไม่เกร็งกล้ามเนื้อไหล่ ข้อศอก ข้อมือ ฝ่ามืออูมนิ้วชิดกันแบบสบายๆ ไม่เกรงจนแข็ง ขณะที่ตบต้องมั่นคงมีจังหวะที่สม่ำเสมอ มือตบลงไปแล้วรีบรั้งกลับ มือทั้งสองข้างต้องอยู่ระดับเดียวกัน คนท้องหรือในขณะมีประจำเดือนต้องระวังให้มาก
จุดที่ 5 เซิ่มเชว่ หรือ สะดือ
วิธีนวด: ท่านั่งหรือท่านอนหงาย ใช้ฝ่ามือทั้งสองข้างตบ ใช้แรงตบจากท่อนแขน ตีต่อเนื่องบริเวณสะดือ 100-200 ครั้ง จนมีสีแดงระเรื่อ ขณะที่ทำข้อมือต้องไม่ขยับหรือขยับเล็กน้อย อาจทำหลังจากหายใจเข้าจนสุด แล้วเริ่มตีจากแรงน้อยๆ ไปมาก คนที่แข็งแรงสามารถตบได้นานกว่าปกติ
สรรพคุณ: สงบอารมณ์ ปรับสมดุลเลือดและลมชี่ ผ่อนคลายตับ ถุงน้ำดี บำรุงปอดไต
จุดที่ 6 อิงหลิงเฉวียน หรือ น่องด้านใน
วิธีการหาจุดและนวด: ใต้ข้อเข่า ตามแนวขาท่อนล่างด้านในไล่ขึ้นไปด้านบน จะพบแอ่งเว้าลงไป ใช้นิ้วมือคลึงบริเวณนี้ ในหนึ่งวันต้องนวดให้ได้อย่างน้อย 3-5 นาที ถ้าสภาพร่างกายมีความชื้นเมื่อกดจุดนี้จะเจ็บมาก เมื่อเวลาผ่านไปจะเจ็บน้อยลง แสดงให้เห็นว่าอาการม้ามชื้นลดลงแล้ว
สรรพคุณ: ขับร้อน บำรุงม้าม ปรับสมดุลลมชี่ บำรุงไต ปรับประจำเดือน
จุดที่ 7 จู๋ซานหลี หรือ น่องด้านนอก
วิธีนวด: กดนวดทุกวัน วันละ 3-5 นาที
สรรพคุณ: แก้อาการปวดหัวใจ แน่นหน้าอก แขนขาอ่อนแรง ปวดไหล่ คลื่นไส้ ตาเหลือง ยกไหล่แขนไม่ได้ น้ำนมน้อย การกดนวดจุดนี้สามารถป้องกันโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคหัวใจและปอดได้
จุดที่ 8 เฉิงซาน หรือ ตรงกลางน่อง
เมื่อเหยียดขาออกตรงๆ หรือเขย่งปลายเท้า กล้ามเนื้อน่องจะเกิดเป็นร่องบุ๋มลงไป จุดอยู่ในจุดเว้านั้น
วิธีนวด: กดคลึงบริเวณนี้ 3-5 นาที
สรรพคุณ: แก้อาการกล้ามเนื้อน่องเป็นตะคริว เมื่อยล้าหลังเอว ท้องผูก
จุดที่ 9 โฮว่ซี หรือ บริเวณสันมือทั้งสองข้าง
วิธีนวด: ใช้สันมือทั้งสองข้างคลึงเบาๆ ไปกับขอบโต๊ะเพื่อเป็นการกระตุ้นจุดนี้ ทำทุกวัน 3 นาที
สรรพคุณ: ดูแลสายตา ดีต่อกระดูกต้นคอและกระดูกเอว
จุดที่ 10 หย่งเฉวียน หรือ กลางฝ่าเท้า
วิธีนวด: ใช้นิ้วมือกดคลึงจุดนี้ 5-10 นาที
สรรพคุณ: รักษาความดันโลหิตสูง เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ เพิ่มการสร้างสารจำเป็นในไต เพิ่มประสิทธิภาพการได้ยิน ทำให้สายตาแข็งแรง มีแรงทำงานไม่รู้สึกเพลีย เคลื่อนไหวคล่องแคล่ว ลดอาการมึนหัว ปวดหัว ความดันสูง หูอื้อ ท้องผูก อุจจาระแข็ง
จุดที่ 11 อิ้นถาง หรือ กึ่งกลางระหว่างคิ้ว
วิธีนวด: ใช้นิ้วมือกดคลึงจุดนี้ 40 ครั้ง
สรรพคุณ: ปรับสมดุลระบบฮอร์โมน ปรับระบบการทำงานของเส้นเลือดหัวใจและสมอง ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายและสงบ
จุดที่ 12 ชี่ไห่และกวนหยวน หรือ บริเวณใต้สะดือ
วิธีนวด: วางฝ่ามือทั้งสองข้างซ้อนทับกัน แล้วนวดตามเข็มนาฬิการอบๆ สะดือ 20 ครั้ง หลังจากนั้นสลับนวดทวนเข็มนาฬิกา
สรรพคุณ: เพิ่มพลังหยาง ปรับประจำเดือน อีกทั้งยังสามารถรักษาอาการกลั้นปัสสาวะในเพศชายไม่อยู่ อวัยวะเพศไม่แข็งตัว ฝันเปียก ไม่มีเรี่ยวแรง เหนื่อยง่าย เมื่อกดนวดสองจุดนี้แล้วยังสามารถรักษาโรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ หลั่งเร็ว จุดนี้ยังเป็นจุดที่ช่วยให้เจริญอาหารอีกด้วย
เขียน: Maytiz
อ้างอิงบทความจาก www.huachiewtcm.com