เพื่อนๆ
เคยเป็นไหม? ชั่งน้ำหนักเครื่องนึงได้น้ำหนักแบบนึง
พอไปชั่งอีกเครื่องนึงก็ได้น้ำหนักอีกแบบนึง ไม่หนักไปก็เบาเกิน
แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่ามีน้ำหนักเท่าไหร่กันแน่ วันนี้เรามี เคล็ดลับการชั่งน้ำหนักที่ถูกต้องเพื่อให้ได้ผลที่แม่นยำมากที่สุดมาฝากค่ะ
1.
เลือกเครื่องชั่งน้ำหนักที่ได้มาตรฐาน
ควรเลือกซื้อเครื่องชั่งน้ำหนักที่ได้มาตรฐาน
ไม่ว่าจะเป็นแบบเข็มหรือเครื่องชั่งแบบดิจิทัลก็ตาม ควรซื้อจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ
ดูฟังก์ชันที่ตรงกับความต้องการของเรา
เพื่อให้ได้เครื่องชั่งน้ำหนักที่ตรงใจและใช้ไปได้นาน ๆ และควรวางเครื่องชั่งน้ำหนักบนพื้นผิวที่แข็งและเรียบ
ไม่วางบนพรมหรือฟูก เพราะอาจทำให้สเกลบนเครื่องชั่งเกิดความคลาดเคลื่อนได้ และก่อนชั่งทุกครั้งควรดูหน้าปัดตราชั่งให้ดีว่าสเกลอยู่ที่เลข
0 ก่อนขึ้นชั่งน้ำหนักด้วยนะคะ
2.
ชั่งน้ำหนักตอนเช้าดีที่สุด
การชั่งน้ำหนักตัวในตอนเช้าหลังตื่นนอนและขับถ่ายเรียบร้อยแล้ว ถือเป็นการชั่งน้ำหนักที่ใกล้เคียงกับน้ำหนักจริงของเรามากที่สุด
เพราะช่วงเวลานี้จะเป็นช่วงเวลาที่เรามีน้ำหนักตัวเบาที่สุด จากการไม่ได้กินอาหารหรือน้ำ
แต่มีการเผาผลาญพลังงานของร่างกายในขณะที่นอนหลับ
รวมไปถึงการขับน้ำจากการหายใจคายคาร์บอนไดออกไซด์ และขับเหงื่อด้วย ดังนั้น
จึงถือว่าหลังขับถ่ายเสร็จในตอนเช้า
เป็นช่วงที่วัดน้ำหนักตัวได้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุดนั่นเอง
3. ชั่งน้ำหนักเวลาเดิม
เวลาที่เปลี่ยนไป
อาจเป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งผลให้การชั่งน้ำหนักของเราเกิดการเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน
ดังนั้น เพื่อความแม่นยำควรชั่งน้ำหนักเวลาเดิม เช่น เคยชั่งน้ำหนักทุก 09.00
น. ก็ควรชั่งเวลานี้ในครั้งต่อไปด้วยนั่นเอง
4. ชั่งน้ำหนักที่เครื่องชั่งเดิมเป็นประจำ
การชั่งน้ำหนักบนตาชั่งที่ต่างกัน อาจได้ตัวเลขที่ไม่เหมือนกันด้วย
เพราะอาจมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เราควบคุมไม่ได้ ดังนั้น เพื่อความแน่นอน
ควรชั่งน้ำหนักที่เครื่องชั่งเดิมเป็นประจำ
และถ้าเป็นไปได้ควรใส่เสื้อผ้าแบบเดิมทุกครั้งที่ชั่งน้ำหนัก
เพื่อลดความคลาดเคลื่อนจากน้ำหนักของเสื้อผ้าหรือเครื่องประดับที่ใส่ด้วยค่ะ
5. ชั่งน้ำหนักสัปดาห์ละครั้งก็พอ
การชั่งน้ำหนักทุกวันอาจไม่ทำให้เราเห็นความแตกต่างเท่าไร
เผลอ ๆ วันไหนที่น้ำหนักขึ้นก็อาจทำให้เครียดไปอีก ดังนั้น จึงควรชั่งน้ำหนักสัปดาห์ละครั้งก็พอ
เพื่อให้เห็นภาพรวมและพัฒนาการของน้ำหนักตัวที่ตรงกับความเป็นจริงที่สุด
หรือถ้าอยากชั่งน้ำหนักทุกวันจริง ๆ ก็ให้จดตัวเลขเอาไว้
แล้วใช้วิธีหาค่าเฉลี่ยต่อสัปดาห์ก็ได้ค่ะ
อย่างไรก็ตาม
น้ำหนักร่างกายไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้สุขภาพที่ดีเสมอไป ดังนั้น
จึงไม่ควรเครียดกับตัวเลขบนตาชั่งมาก
เพราะอย่าลืมว่ามวลกระดูกของแต่ละคนไม่เท่ากัน โครงสร้างร่างกายก็แตกต่างกันด้วย
ดังนั้น เพียงรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในมาตรฐาน รับประทานอาหารที่ประโยชน์ต่อร่างกาย
หมั่นออกกำลังกายอยู่เสมอ
แค่นี้เราก็มีน้ำหนักที่สมดุลแข็งแรงเหมาะสมกับตัวเราเองได้ไม่ยากแล้วละคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
เรียบเรียงข้อมูล
amp_ang